วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คุณภาพการศึกษา : จุดตั้งต้นของการพัฒนา...เริ่มที่ใคร? อย่างไร?

ปัญหาด้านการศึกษา คือปัญหาใหญ่ของชาติที่ต้องได้รับการแก้ไขในระดับแรกๆ เพราะการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคนในชาติ และการศึกษาเป็นเครื่องช่วยยกระดับของคนให้สูงขึ้น ทั้งด้านสมอง ด้านจิตใจ และด้านอื่นๆ

จากรายงานสภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550 ของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา พบว่ามีตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษา เช่น อัตราส่วนนักเรียนต่อครู ขนาดของชั้นเรียน
เงินเดือนของครู ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ผลการประเมินคุณภาพของ สมส. พบว่าสถานศึกษาไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานสูงถึงร้อยละ 65 และในการสอบ O-NET/A-NET ของปีการศึกษา 2552 คะแนนที่ได้ก็ต่ำกว่ามาตรฐาน ปีการศึกษา 2551 ทุกวิชาคะแนนไม่ถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยต่ำมาก อยู่ในช่วงร้อยละ 22-36 เท่านั้น (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2552 : ค)

ปัญหาที่ไทยมีการกระจายรายได้ที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาทางการศึกษาของคนไทยค่อนข้างล้าหลังกว่าหลายประเทศ เพราะถึงแม้รัฐจะพยายามจัดบริการทางการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างไร คนจนซึ่งไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างดี ไม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของลูกได้ดีพอก็เป็นฝ่ายเสียเปรียบ มีโอกาสได้รับการศึกษาน้อยกว่าคนรวยกว่าอยู่ร่ำไป ถึงจะมีลูกคนจนที่ก้าวข้ามมาได้บ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย (วิทยากร เชียงกูล. 2544 : 15)

การจัดการศึกษาของประเทศก็ยังมีจุดอ่อนหลายประการที่จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้มีความเข้มแข็งขึ้น ทั้งในเชิงการบริหารจัดการ คุณภาพการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา ก็ยังไม่ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาบ่อยครั้ง ทำให้ขาดความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา .2551:48)


สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้กล่าวถึงปัญหาคุณภาพการศึกษาไว้ในหนังสือยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา : ระเบียบวาระแห่งชาติ (พ.ศ.2551-2555) โดยสรุปพอสังเขปดังนี้
1. ความไม่พร้อมในการจัดการศึกษา
2. การขาดแคลนครู ซึ่งมีสาเหตุมาจากการจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐ
3. เทคนิคการสอนและวิธีการจัดกระบวนการเรียนไม่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักวิเคราะห์
4. ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา ส่งผลให้ไม่มีงบประมาณเพียงพอเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเต็มที่ ทั้งการพัฒนาครู คณาจารย์ ผู้บริหาร การจัดหาสื่อการสอน
5. ครูขาดรูปแบบและวิธีการสอนที่เหมาะสม
6. ขาดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนากำลังคนโดยรวมของชาติ
7. การไม่สามารถจูงใจคนที่มีความรู้ความสามารถ มาเป็นครู อาจารย์ในสถาบันการศึกษาได้

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงต้องเริ่มที่ผู้บริหารซึ่งมีอำนาจในการบริหารจัดการ การวางแนวนโยบายทางการศึกษา หรือแผนพัฒนาการศึกษา โดยจะต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กและปฏิรูปทุกด้าน สร้างให้คนใฝ่รู้ รักการอ่าน รู้จักศึกษาด้วยตนเอง กระจายและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทุกคน มีการพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ เพิ่มจำนวนครูให้เพียงพอเพื่อลดขนาดของชั้นเรียน พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ให้ท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน และจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาอย่างเหมาะสม เพียงพอและเป็นระบบ กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา และรณรงค์ปลูกจิตสำนึกนึกให้คนสนใจ ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหา และเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั่วถึงและมีคุณภาพ เพราะการปฏิรูปการศึกษาไม่อาจทำได้เพียงแค่การออกกฎหรือคำสั่งเท่านั้น นอกจากนี้รัฐจะต้องแก้ปัญหาพื้นฐานด้านสังคม การกระจายรายได้ ความเป็นอยู่ของประชาชน

บรรณานุกรม
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2551). กรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงแผนพัฒนา
เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา
แห่งชาติ (พ.ศ.2545-2549) : ฉบับสรุป. กรุงเทพฯ: สกศ..
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2551). ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา : ระเบียบวาระแห่งชาติ
(พ.ศ.2551-2555). กรุงเทพฯ: สกศ..

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2552). สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550. กรุงเทพฯ: สกศ..
วิทยากร เชียงกูล. (2544). ทางรอดประเทศไทย : ปฏิวัติกรอบวิธีคิดและระบบการเรียนรู้ใหม่. กรุงเทพฯ: เรือนปัญญา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น