วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การบ้าน"หัวข้องานวิจัย"

การบ้าน"หัวข้องานวิจัย"

การพัฒนาบทเรียนออนไลน์เพื่อพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการของนิสิตระดับปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีการศึกษา

สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550 (ตอนจบ)

2.2. คุณภาพการศึกษา
จากตัวบ่งชี้บางตัวที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษา เช่น อัตราส่วนนักเรียนต่อครูของไทย ระดับประถมศึกษามีอัตราส่วน 19:1 ต่ำกว่าสหราชอาณาจักร (21:1) สิงคโปร์(24:1) และเกาหลี(28:1) ระดับมัธยมศึกษา 23:1 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ WEI ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 20:1 ส่วนขนาดของชั้นเรียนของไทย ระดับประถมศึกษา 23 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ WEI คือ 28 คน และใกล้งเคียงกับกลุ่มประเทศ OECD คือ 22 คน ระดับมัธยมศึกษาไทยมีขนาดชั้นเรียน 36 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศ WEI เล็กน้อยคือ 34 คน แต่สูงกว่ากลุ่มประเทศ OECD มากคือ 24 คน เมื่อเปรียบเทียบชั่วโมงเรียนของนักเรียนและชั่วโมงสอนของครูกับหลายประเทศ ไทยมีค่าเฉลี่ยมากกว่ากลุ่มประเทศ WEI ส่วนเงินเดือนครูไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ WEI และต่ำกว่า OECD ประมาณ 4-5 เท่า
ถ้าพิจารณาผลการประเมินคุณภาพของ สมศ. พบว่า สถานศึกษาไม่ได้เกณฑ์มาตรฐาน สูงถึงร้อยละ 65 และในการสอบ O-NET / A-NET คะแนนในปีพ.ศ.2552 ต่ำกว่าปีพ.ศ.2551 ทุกวิชาคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยต่ำมากอยู่ในช่วงร้อยละ 22-36 เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบการประเมินนักเรียนในโครงการ PISA 2006 พบว่า นักเรียนไทยมีความสามารถในการอ่าน การรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่ำ คะแนนเฉลี่ยอยู่เพียง 417-421 คะแนน เกือบร้อยละ 80 อยู่ในระดับสมรรถนะเพียงระดับ 2 (ระดับสูงสุดคือระดับ 5) ในขณะที่กลุ่ม OECD และจีน-ฮ่องกง จีน-ไทเป คะแนนเฉลี่ยกว่า 500 คะแนน ระดับสมรรถนะสูงถึงระดับ 3 ขึ้นไป และโครงการ TMISS ประเมินผลสัมฤทธิ์วิชาคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ พบว่าทั้ง 2 วิชาของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 50 คะแนน และคะแนนยังลดลงจากปีก่อน
การจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษานานาชาติ พบว่า อันดับมหาวิทยาลัยไทยยังเป็นรองประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ทั้งญี่ปุ่น จีน-ฮ่องกง จีน-ไทเป(ไต้หวัน) จีน และสิงคโปร์ มีเพียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ติดอันดับ 309 ของโลก ในปีพ.ศ.2551 และติดอันดับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9 แห่ง
2.3. ประสิทธิภาพการจัดการศึกษา
ประเทศไทยยังมีอัตราเด็กซ้ำชั้นในระดับประถมศึกษา ร้อยละ 1.9 และในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 0.1 ซึ่งมีนักเรียนซ้ำชั้นเป็นชายมากกว่าหญิง
ประชากรกลุ่มอายุ 6-13 ปี เข้าเรียนมากกว่าร้อยละ 90 และมีเด็กอีกประมาณร้อยละ 10 ออกจากโรงเรียนโดยไม่จบการศึกษาภาคบังคับ


อัตราการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อประชากรวัยเรียนไทยมีอัตราร้อยละ 65.4 สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่ม WEI (ร้อยละ 60.5) ส่วนใหญ่มาจากโปรแกรมสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ ส่วนระดับอุดมศึกษาไทยมีอัตราการสำเร็จการศึกษาร้อยละ 40 สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่ม WEI (ร้อยละ 30)

หากจำแนกตามหลักสูตรพบว่า ไทยมีค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนผู้สำเร็จการศึกษารูปแบบเน้นทฤษฎีคือร้อยละ 25.4 เน้นการปฏิบัติร้อยละ 14.5 ส่วนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกของไทยยังน้อยไม่ถึงร้อยละ 1

2.4. งบประมาณและค่าใช้จ่ายทางการศึกษา
ปีงบประมาณ 2548 ไทยมีสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ร้อยละ 25.0 ใกล้เคียงมาเลเซีย (ร้อยละ 25.2) แต่มากกว่าหลายประเทศในกลุ่ม OECD โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเยอรมนี ซึ่งมากกว่า 2.5 เท่า ส่วนอัตราส่วนงบประมาณการศึกษาต่อ GDP ของไทยเฉลี่ยร้อยละ 4.3 ต่ำกว่ามาเลเซีย (ร้อยละ 6.2) และเกาหลี (ร้อยละ 4.6) แต่ยังสูงกว่าหลายๆประเทศ เช่น รัสเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น (ร้อยละ 3.6 เท่ากัน) ส่วนสัดส่วนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาภาครัฐและเอกชน ร้อยละ 68.3 และ 31.7 ตามลำดับ ใกล้เคียงกับกลุ่ม WEI ( ร้อยละ 68.8 และ 31.2)

ในด้านค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่อนักเรียนรายหัว ในระดับประถมศึกษาไทย สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ต่ำกว่าเกือบทุกประเทศในกลุ่ม OECD

ไทยใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาร้อยละ 3.1 ต่อ GDP ปีพ.ศ.2548 และมีจำนวนนักวิจัยและพัฒนา 287 คน เมื่อเทียบกับจีนซึ่งลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP เพียงร้อยละ 1.9 แต่มีจำนวนนักวิจัยและพัฒนามากถึง 7.8 คน ส่วนสิงคโปร์และเดนมาร์ก ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพียงร้อยละ 0.1 และ 0.3 ตามลำดับ แต่มีจำนวนนักวิจัยและพัฒนาสูงถึง 4,999 คน และ 5,016 คน ตามลำดับ


3. ข้อเสนอแนะ
3.1. ควรส่งเสริมการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาตลอดชีวิต และการศึกษาตามอัธยาศัยแก่ประชากรวัยแรงงานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานไทยให้มีคุณวุฒิน้อยที่สุดระดับการศึกษาภาคบังคับโดยรวดเร็ว

3.2. เร่งขยายโอกาสการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาอย่างมีคุณภาพแก่ประชากรวัยเรียน เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าเรียนของประชากรด้วยมาตรการต่างๆ

3.3. เร่งขจัดปัญหาทุพโภชนาการและการขาดแคลนอาหาร ควบคู่กับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยได้เข้ารับการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมทั้งให้ความรู้แก่แม่ในการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากครอบครัวยากจน

3.4. เร่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการอ่านที่เป็นพื้นฐานในการเรียนในสาระวิชาอื่นๆ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเด็กไทยยังมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าหลายประเทศมาก รวมทั้งควรส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้านต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อพัฒนามันสมองให้กับประเทศชาติ และเพื่อป้องกันการเสียเปรียบในการแข่งขันในเวทีนานาชาติ

3.5. เร่งเพิ่มจำนวนครูในระดับมัธยมศึกษาไทย เพื่อลดขนาดของชั้นเรียนและอัตราส่วนครูต่อนักเรียนลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ต้องลดภาระงานครูด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานด้านการสอน เพื่อใช้เวลาในการเตรียมการสอน ให้คำแนะนนำนักเรียน และพัฒนาตนเองให้มากขึ้น

3.6. เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษา โดยกำกับและดูแลมิให้มีเด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เด็กในชนบทยากจนเป็นเด็กพิเศษ เพื่อให้เด็กสามารถเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ และมีโอกาสเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นอกจากนี้ควรพัฒนาระบบติดตามมาใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถตรวจสอบการจัดสรรและการนำไปใช้ให้สอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนให้มากที่สุด

3.7. พัฒนาโครงสร้างด้านเทคโนโลยีให้คนและนักเรียนที่อาศัยอยู่ในชนบท ท้องถิ่นห่างไกลได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน และมีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพการใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน

3.8. ส่งเสริม สนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มากขึ้นในทุกระดับการศึกษา มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และแผนการจัดการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่ส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาเอกชน

3.9. พิจารณาทบทวนระบบการศึกษาแบบ “การเลื่อนชั้นอัตโนมัติ” และควรมีการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการศึกษาไทยโดยรวม เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการบริหารการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีนวัตกรรมทางการศึกษามากยิ่งขึ้น

อ้างอิง
สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา. (2552). สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550. กรุงเทพฯ:
พริกหวานกราฟฟิค.

สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550 (ตอนที่ 1)

สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550
สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ศึกษาเปรียบเทียบตัวชี้วัดทางการศึกษาระดับนานาชาติ เพื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ประกอบด้วยกลุ่มประเทศ WEI 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศกลุ่ม OECD 11 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น แคนาดา นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศอื่นๆในบางรายการ โดยเลือกประเทศที่เป็นจุดเด่นและน่าสนใจ เช่น เวียดนาม รัสเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ชิลี อาร์เจนตินา จีนไทเป และลาว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้


1. สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
1.1. ด้านโครงสร้างประชากรไทย วัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลดลง ปีพ.ศ.2548 เหลือร้อยละ 21.7 คาดว่า พ.ศ.2558 จะลดลงเหลือร้อยละ 19.7 ส่วนประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคล้ายคลึงกับหลายประเทศในโลก เนื่องจากมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 8 และแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.2 ในปีพ.ศ.2558 ในอัตราที่สูงกว่าวัยแรงงาน ซึ่งจะทำให้ประชากรวัยแรงงานรับภาระวัยเด็กและดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งอัตราการรับภาระวัยผู้สูงอายุของไทยสูงกว่าทุกประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ที่มีอัตราสูงใกล้เคียงกัน

1.2. ด้านคุณภาพแรงงานไทย อายุ 25-64 ปี กว่าร้อยละ 66.2 มีการศึกษาเฉลี่ยเพียงแค่ประถมศึกษาและต่ำกว่า ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ การศึกษาของวัยแรงงานส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ส่วนอัตราการว่างงานของไทยดีขึ้น ในปี พ.ศ.2550 อัตราการว่างงานเหลือเพียงร้อยละ 1.4 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยกลุ่มแรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานมากที่สุด

1.3. ด้านคุณภาพชีวิต โภชนาการของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 18 ซึ่งอัตราส่วนสูงกว่าประเทศมาเลเซีย (ร้อยละ 11) และจีน (ร้อยละ 8) ซึ่งสาเหตุมาจากปัญหาทุพโภชนาการในครัวเรือนที่ยากจน และเป็นครอบครัวที่พูดภาษาอื่นและมารดาไม่มีการศึกษา ส่วนอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 7.4 ซึ่งดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ และใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ (ร้อยละ 7.5)

1.4. ด้านสื่อและเทคโนโลยี อัตราส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์สายหลัก และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยยังค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ตของไทย อัตราส่วนผู้ใช้ 159 คนต่อประชากร 1,000 คน แตกต่างจากประเทศกลุ่ม OECD ที่ใช้กันแพร่หลายในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียอัตราส่วนเกือบ 1:1 และมาเลเซียใช้อินเทอร์เน็ตมากในอัตราส่วน

2. สภาวการณ์ด้านการศึกษา
2.1. โอกาส ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมทางการศึกษา
- อัตราการเข้าเรียน
ในระดับก่อนประถมศึกษา ไทยมีอัตราการเข้าเรียนร้อยละ 82 ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น (ร้อยละ 85) ในระดับประถมศึกษา ไทยมีอัตราส่วนนักเรียนต่อประชากรอย่างหยาบและสุทธิร้อยละ 96 และร้อยละ 88 ตามลำดับ ในระดับมัธยมศึกษาสุทธิของไทยยังต่ำคือร้อยละ 64 ต่ำกว่ามาเลเซีย (ร้อยละ 76) และเวียดนาม (ร้อยละ 69) ในขณะที่กลุ่ม OECD อัตราการเข้าเรียนสุทธิส่วนใหญ่สูงกว่าร้อยละ 90 ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไทยมีอัตราร้อยละ 87 น้อยกว่าจีน มาเลเซีย และเวียดนาม และเมื่อแยกการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอัตราของไทยร้อยละ 55 ต่ำกว่าเวียดนามและมาเลเซีย และต่ำกว่าประเทศในกลุ่ม OECD ที่มีอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 100 ถ้าพิจารณาอัตราการเข้าเรียน 2 ปีสุดท้ายของการศึกษาภาคบังคับไทยยังแค่ร้อยละ 80 คล้ายกับเวียดนาม ซึ่งแสดงว่ามีเด็กที่เรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับถึงร้อยละ 20

ในระดับมัธยมศึกษา เมื่อจำแนกตามหลักสูตร ประเทศไทยจัดหลักสูตรสายสามัญถึงร้อยละ 72.8 และสายอาชีพร้อยละ 27.2 ประเทศที่จัดสายอาชีพมากเกินร้อยละ 60 ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ และออสเตรเลีย อัตราการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาของไทยร้อยละ 43 สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จำแนกเป็นอุดมศึกษาที่เน้นทฤษฎีเป็นฐาน (อนุปริญญา ปริญญาตรี และปริญญาโท) ร้อยละ 83 เน้นวิชาชีพ (ปวส.) ร้อยละ 17 และระดับปริญญาเอกไม่ถึงร้อยละ 1 ซึ่งตรงข้ามกับมาเลเซีย เกาหลี และนิวซีแลนด์ ที่เยาวชนเลือกเรียนโปรแกรมเน้นการปฏิบัติมากกว่าร้อยละ 40

ด้านการศึกษาผู้ใหญ่หรือการศึกษานอกโรงเรียนของไทย มีผู้เข้าเรียนระดับประถมศึกษาร้อยละ 2.9 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 18 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 34.7

- ความเสมอภาคระหว่างเพศ ประเทศไทยไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศในการเข้าศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น แต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษา มีหญิงเข้าเรียนมากกว่าชายเล็กน้อย เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ

- การมีส่วนร่วมทางการศึกษา สถานการศึกษาเอกชนของไทยมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาน้อยมากทุกระดับการศึกษา ในระดับประถมศึกษามีสัดส่วนร้อยละ 16.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 9.3 ระดับมัธยมศึกษาร้อยละ 13.5 และระดับอุดมศึกษาร้อยละ 18.3 ในขณะที่หลายประเทศโรงเรียนเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้นเมื่อระดับการศึกษาสูงขึ้น เช่น สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี และญี่ปุ่น


อ้างอิง
สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา. (2552). สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550. กรุงเทพฯ:
พริกหวานกราฟฟิค.