วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความหมายของการวิจัย

การวิจัย มาจากคำว่า Research ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า Re+Search
Re แปลว่า ซ้ำ
Search แปลว่า ค้น
ดังนั้น Research แปลว่า การค้นคว้าซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งอาจหมายถึงการค้นหาความรู้ ความจริง ค้นแล้วค้นอีก ซึ่งจะทำให้ได้รับความรู้ ความจริงที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง เพราะมีข้อมูลเพียงพอต่อการสรุปเป็นความรู้ ความจริงนั้นๆ


มีผู้ให้ความหมายของการวิจัยไว้ดังนี้
การวิจัยคือการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ด้วยวิธีการที่เป็นระบบ และเป็นที่ยอมรับกันในสาขาวิชานั้นๆ โดยความรู้ที่ได้มาดังกล่าวอาจเป็นความรู้ใหม่หรือความรู้ที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้ (สรชัย พิศาลบุตร, 2546 : 9)

การวิจัยคือกระบวนการต่างๆที่ดำเนินไปอย่างมีระเบียบและกฏเกณฑ์ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์และการตีความหมายข้อมูลทั้งหมดนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบอันถูกต้องต่อปัญหาหรือคำถามที่ได้ตั้งไว้ (สุชาติ ประสิทธิรัฐสินธุ์, 2536 : 1)

การวิจัยเป็นกระบวนการหรือเทคนิควิธีในการแสวงหาความรู้ ความจริง ที่น่าเชื่อถือได้โดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน (ยุทธ ไกยวรรณ์, 2545 : 16)

การวิจัยเป็นกระบวนการค้นคว้าหาข้อเท็จจริง หรือประสบการณ์ตามธรรมชาติอย่างมีระบบระเบียบ และมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนเพื่อให้ได้ความรู้ที่เชื่อถือได้ (บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์,2543 : 1)
การวิจัยคือกระบวนการค้นคว้าความรู้ที่เชื่อถือได้ มีลักษณะดังนี้
1. เป็นกระบวนการที่มีระบบ
2. มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนชัดเจน
3. ดำเนินการศึกษาอย่างรอบคอบไม่ลำเอียง
4. มีหลักเหตุผล
5. บันทึกและรายงานออกมาอย่างระมัดระวัง
(บุญชม ศรีสะอาด, 2545 : 1)

จากความหมายของการวิจัยที่กล่าวมาพอสรุปความหมายของการวิจัยว่า เป็นกระบวนการค้นคว้าหาความรู้ ความจริงอย่างมีระบบระเบียบ และวิธีการตามหลักแต่ละสาขาวิชา มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน โดยดำเนินการค้นหาอย่างรอบคอบ รัดกุม มีเหตุผล เพื่อให้ได้ความรู้ ความจริงที่ถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ

บรรณานุกรม
บุญชม ศรีสะอาด. (2545). การวิจัยเบื้องต้นฉบับพิมพ์ครั้งที่7 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.
สรชัย พิศาลบุตร. (2546). วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์.

สุชาติ ประสิทธิรัฐสินธุ์. (2536). ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพฯ: สถาบันบัณฑิตพัฒน
บริหารศาสตร์.

ยุทธ ไกยวรรณ์. (2545). พื้นฐานการวิจัย. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.
บุญธรรม กิจปรีดายริสุทธิ์. (2543). การวิจัยการวัดและประเมินผล. กรุงเทพฯ: ศรีอนันต์.

Technology in Education and Technology of Education

Technology in Education แนวคิดเกี่ยวกับความหมายเทคโนโลยีทางการศึกษาอาจแบ่งได้เป็น 2 แนวคิดหลัก
1. แนวคิดวิทยาศาสตร์และกายภาพ หรือเทคโนโลยีทางการศึกษา (Technology in Education) หรือเทคโนโลยีเชิงเครื่องมือ (Tools Technology)
เทคโนโลยีทางการศึกษา หมายถึง การนำสื่อที่เกิดจากการปฏิวัติทางการสื่อสารมาใช้ในการเรียนการสอนเทคโนโลยีทางการศึกษา หมายถึง การนำทัพสัมภาระต่างๆ อันเป็นผลผลิตแห่งความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเรียนการสอน
2. แนวคิดเชิงพฤติกรรม หรือเทคโนโลยีทางการศึกษา (Technology in Education) หรือเทคโนโลยีเชิงระบบ (System Technology)เทคโนโลยีทางการศึกษาตามแนวคิดนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดที่เน้นเรื่องการปฏิบัติงานทางการศึกษาด้วยวิธีระบบ หรืออาจกล่าโดยสรุปได้ว่า เทคโนโลยีทางการศึกษา หมายถึง การออกแบบ การวางแผน การดำเนินการตามแผนการประเมินผล ภายใต้จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจงอย่างมีระบบ โดยดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่ได้มาจากการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ตลอดจนอาศัยทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น ธรรมชาติสร้างขึ้น หรือมนุษย์และธรรมชาติร่วมกันสร้างขึ้น (มนตรี แย้มกสิกร, 2547: 31)


เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (Technology in Education) หมายถึง การนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอน เพื่อให้การศึกษาการสอนการเรียนมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการศึกษา ได้แก่เทคโนโลยีต่าง ๆ ดังนี้
1. เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม คือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการสื่อสารทางไกลโดยผ่านระบบการสื่อสารคมนาคมต่าง ๆ
2. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ในการรับข้อมูล ประมวลผลข้อมูลและนำเสนอข้อมูลตามที่ผู้ใช้ต้องการ
3. เทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ เครือข่ายเฉพาะที่ (Local Area Network-LAN) เป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ต่อเชื่อมคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์ไม่มากนัก มักอยู่ในอาคารหลังเดียว เครือข่ายบริเวณกว้าง (Wide Area Network-WAN) เป็นระบบเครือข่ายที่มีคอมพิวเตอร์กระจายอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ช่วยให้สำนักงานในจังหวัดติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับสำนักงานใหญ่ที่อยู่ในเมืองหลวงได้
4. ระบบสำนักงานอัตโนมัติ เป็นแนวคิดที่นำระบบเครือข่ายมาใช้เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์สำนักงาน เช่น ระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบประชุมทางไกล
5. เทคโนโลยีระบบสารสนเทศ เป็นการประมวลผลข้อมูลในลักษณะต่าง ๆ เพื่อช่วยในการจัดการและบริหารงาน
6. ระบบมัลติมีเดีย เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานภาพ ภาพเคลื่อนไหว เสียง และข้อความเข้าด้วยกันโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการแสดงผล นำไปประยุกต์ใช้ในการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) กิจกรรมเพื่อการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในปัจจุบันนี้ได้แก่ วิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา วิทยุโรงเรียน โทรทัศน์เพื่อการศึกษา การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ระบบประชุมทางไกล ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในบทความผู้เขียนได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่มีในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และประวัติการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษาของไทยไว้ด้วย (ชม ภูมิภาค,2543 : 15)


เทคโนโลยีการศึกษาเป็นระบบประยุกต์ผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์ (วัสดุ) และผลิตกรรมของวิศวกรรม (อุปกรณ์) โดยยึดหลักทางพฤติกรรมศาสตร์ (วิธีการ) มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา ทั้งในด้านบริหาร ด้านวิชาการ และด้านบริการ หรืออีกนัยหนึ่ง เทคโนโลยีการศึกษาเป็นระบบการนำวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ มาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการศึกษาให้สูงขึ้น (ชัยยงค์ พรหมวงศ์และคนอื่นๆ, 2523 : 24)


กล่าวโดยสรุปแล้ว Technology in Education หรือ คือ การนำสื่อที่เกิดจากการปฏิวัติทางการสื่อสารหรือผลผลิตแห่งความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน

Technology of Education คือ การใช้วิธีวิเคราะห์ระบบในการออกแบบการเรียนรู้ (a system approach to design of learning) ซึ่งยึดผู้เรียนรายบุคคลเป็นรากฐาน แม้จะให้การเรียนรู้แก่คนเป็นกลุ่มใหญ่ ก็เป็นการให้การเรียนรู้แก่คนกลุ่มใหญ่เป็นคนๆ ไปอยู่นั่นเอง (มนตรี แย้มกสิกร, 2547: 47)

อ้างอิง
ชม ภูมิภาค, เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา, เทคโนโลยีสื่อสารการศึกษา, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 หน้า 15-17, 2543
ชัยยงค์ พรหมวงศ์และคนอื่นๆ. (2523). เอกสารการสอนชุดวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา. กรุงเทพฯ: ยูไนเต็ดโปรดักชั่น.
มนตรี แย้มกสิกร. (2547). การวิจัยและทฤษฎีเทคโนโลยีการศึกษา.

คุณภาพการศึกษา : จุดตั้งต้นของการพัฒนา...เริ่มที่ใคร? อย่างไร?

ปัญหาด้านการศึกษา คือปัญหาใหญ่ของชาติที่ต้องได้รับการแก้ไขในระดับแรกๆ เพราะการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคนในชาติ และการศึกษาเป็นเครื่องช่วยยกระดับของคนให้สูงขึ้น ทั้งด้านสมอง ด้านจิตใจ และด้านอื่นๆ

จากรายงานสภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550 ของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา พบว่ามีตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษา เช่น อัตราส่วนนักเรียนต่อครู ขนาดของชั้นเรียน
เงินเดือนของครู ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ผลการประเมินคุณภาพของ สมส. พบว่าสถานศึกษาไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานสูงถึงร้อยละ 65 และในการสอบ O-NET/A-NET ของปีการศึกษา 2552 คะแนนที่ได้ก็ต่ำกว่ามาตรฐาน ปีการศึกษา 2551 ทุกวิชาคะแนนไม่ถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยต่ำมาก อยู่ในช่วงร้อยละ 22-36 เท่านั้น (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2552 : ค)

ปัญหาที่ไทยมีการกระจายรายได้ที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาทางการศึกษาของคนไทยค่อนข้างล้าหลังกว่าหลายประเทศ เพราะถึงแม้รัฐจะพยายามจัดบริการทางการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างไร คนจนซึ่งไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างดี ไม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของลูกได้ดีพอก็เป็นฝ่ายเสียเปรียบ มีโอกาสได้รับการศึกษาน้อยกว่าคนรวยกว่าอยู่ร่ำไป ถึงจะมีลูกคนจนที่ก้าวข้ามมาได้บ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย (วิทยากร เชียงกูล. 2544 : 15)

การจัดการศึกษาของประเทศก็ยังมีจุดอ่อนหลายประการที่จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้มีความเข้มแข็งขึ้น ทั้งในเชิงการบริหารจัดการ คุณภาพการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา ก็ยังไม่ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาบ่อยครั้ง ทำให้ขาดความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา .2551:48)


สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้กล่าวถึงปัญหาคุณภาพการศึกษาไว้ในหนังสือยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา : ระเบียบวาระแห่งชาติ (พ.ศ.2551-2555) โดยสรุปพอสังเขปดังนี้
1. ความไม่พร้อมในการจัดการศึกษา
2. การขาดแคลนครู ซึ่งมีสาเหตุมาจากการจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐ
3. เทคนิคการสอนและวิธีการจัดกระบวนการเรียนไม่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักวิเคราะห์
4. ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา ส่งผลให้ไม่มีงบประมาณเพียงพอเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเต็มที่ ทั้งการพัฒนาครู คณาจารย์ ผู้บริหาร การจัดหาสื่อการสอน
5. ครูขาดรูปแบบและวิธีการสอนที่เหมาะสม
6. ขาดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนากำลังคนโดยรวมของชาติ
7. การไม่สามารถจูงใจคนที่มีความรู้ความสามารถ มาเป็นครู อาจารย์ในสถาบันการศึกษาได้

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงต้องเริ่มที่ผู้บริหารซึ่งมีอำนาจในการบริหารจัดการ การวางแนวนโยบายทางการศึกษา หรือแผนพัฒนาการศึกษา โดยจะต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กและปฏิรูปทุกด้าน สร้างให้คนใฝ่รู้ รักการอ่าน รู้จักศึกษาด้วยตนเอง กระจายและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทุกคน มีการพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ เพิ่มจำนวนครูให้เพียงพอเพื่อลดขนาดของชั้นเรียน พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ให้ท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน และจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาอย่างเหมาะสม เพียงพอและเป็นระบบ กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา และรณรงค์ปลูกจิตสำนึกนึกให้คนสนใจ ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหา และเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั่วถึงและมีคุณภาพ เพราะการปฏิรูปการศึกษาไม่อาจทำได้เพียงแค่การออกกฎหรือคำสั่งเท่านั้น นอกจากนี้รัฐจะต้องแก้ปัญหาพื้นฐานด้านสังคม การกระจายรายได้ ความเป็นอยู่ของประชาชน

บรรณานุกรม
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2551). กรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงแผนพัฒนา
เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา
แห่งชาติ (พ.ศ.2545-2549) : ฉบับสรุป. กรุงเทพฯ: สกศ..
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2551). ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา : ระเบียบวาระแห่งชาติ
(พ.ศ.2551-2555). กรุงเทพฯ: สกศ..

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2552). สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550. กรุงเทพฯ: สกศ..
วิทยากร เชียงกูล. (2544). ทางรอดประเทศไทย : ปฏิวัติกรอบวิธีคิดและระบบการเรียนรู้ใหม่. กรุงเทพฯ: เรือนปัญญา.