วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550 (ตอนที่ 1)

สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550
สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ศึกษาเปรียบเทียบตัวชี้วัดทางการศึกษาระดับนานาชาติ เพื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ประกอบด้วยกลุ่มประเทศ WEI 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศกลุ่ม OECD 11 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น แคนาดา นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศอื่นๆในบางรายการ โดยเลือกประเทศที่เป็นจุดเด่นและน่าสนใจ เช่น เวียดนาม รัสเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ชิลี อาร์เจนตินา จีนไทเป และลาว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้


1. สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
1.1. ด้านโครงสร้างประชากรไทย วัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลดลง ปีพ.ศ.2548 เหลือร้อยละ 21.7 คาดว่า พ.ศ.2558 จะลดลงเหลือร้อยละ 19.7 ส่วนประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคล้ายคลึงกับหลายประเทศในโลก เนื่องจากมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 8 และแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.2 ในปีพ.ศ.2558 ในอัตราที่สูงกว่าวัยแรงงาน ซึ่งจะทำให้ประชากรวัยแรงงานรับภาระวัยเด็กและดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งอัตราการรับภาระวัยผู้สูงอายุของไทยสูงกว่าทุกประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ที่มีอัตราสูงใกล้เคียงกัน

1.2. ด้านคุณภาพแรงงานไทย อายุ 25-64 ปี กว่าร้อยละ 66.2 มีการศึกษาเฉลี่ยเพียงแค่ประถมศึกษาและต่ำกว่า ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ การศึกษาของวัยแรงงานส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ส่วนอัตราการว่างงานของไทยดีขึ้น ในปี พ.ศ.2550 อัตราการว่างงานเหลือเพียงร้อยละ 1.4 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยกลุ่มแรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่างงานมากที่สุด

1.3. ด้านคุณภาพชีวิต โภชนาการของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 18 ซึ่งอัตราส่วนสูงกว่าประเทศมาเลเซีย (ร้อยละ 11) และจีน (ร้อยละ 8) ซึ่งสาเหตุมาจากปัญหาทุพโภชนาการในครัวเรือนที่ยากจน และเป็นครอบครัวที่พูดภาษาอื่นและมารดาไม่มีการศึกษา ส่วนอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 7.4 ซึ่งดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ และใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ (ร้อยละ 7.5)

1.4. ด้านสื่อและเทคโนโลยี อัตราส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์สายหลัก และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยยังค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ตของไทย อัตราส่วนผู้ใช้ 159 คนต่อประชากร 1,000 คน แตกต่างจากประเทศกลุ่ม OECD ที่ใช้กันแพร่หลายในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียอัตราส่วนเกือบ 1:1 และมาเลเซียใช้อินเทอร์เน็ตมากในอัตราส่วน

2. สภาวการณ์ด้านการศึกษา
2.1. โอกาส ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมทางการศึกษา
- อัตราการเข้าเรียน
ในระดับก่อนประถมศึกษา ไทยมีอัตราการเข้าเรียนร้อยละ 82 ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น (ร้อยละ 85) ในระดับประถมศึกษา ไทยมีอัตราส่วนนักเรียนต่อประชากรอย่างหยาบและสุทธิร้อยละ 96 และร้อยละ 88 ตามลำดับ ในระดับมัธยมศึกษาสุทธิของไทยยังต่ำคือร้อยละ 64 ต่ำกว่ามาเลเซีย (ร้อยละ 76) และเวียดนาม (ร้อยละ 69) ในขณะที่กลุ่ม OECD อัตราการเข้าเรียนสุทธิส่วนใหญ่สูงกว่าร้อยละ 90 ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไทยมีอัตราร้อยละ 87 น้อยกว่าจีน มาเลเซีย และเวียดนาม และเมื่อแยกการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอัตราของไทยร้อยละ 55 ต่ำกว่าเวียดนามและมาเลเซีย และต่ำกว่าประเทศในกลุ่ม OECD ที่มีอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 100 ถ้าพิจารณาอัตราการเข้าเรียน 2 ปีสุดท้ายของการศึกษาภาคบังคับไทยยังแค่ร้อยละ 80 คล้ายกับเวียดนาม ซึ่งแสดงว่ามีเด็กที่เรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับถึงร้อยละ 20

ในระดับมัธยมศึกษา เมื่อจำแนกตามหลักสูตร ประเทศไทยจัดหลักสูตรสายสามัญถึงร้อยละ 72.8 และสายอาชีพร้อยละ 27.2 ประเทศที่จัดสายอาชีพมากเกินร้อยละ 60 ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ และออสเตรเลีย อัตราการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาของไทยร้อยละ 43 สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จำแนกเป็นอุดมศึกษาที่เน้นทฤษฎีเป็นฐาน (อนุปริญญา ปริญญาตรี และปริญญาโท) ร้อยละ 83 เน้นวิชาชีพ (ปวส.) ร้อยละ 17 และระดับปริญญาเอกไม่ถึงร้อยละ 1 ซึ่งตรงข้ามกับมาเลเซีย เกาหลี และนิวซีแลนด์ ที่เยาวชนเลือกเรียนโปรแกรมเน้นการปฏิบัติมากกว่าร้อยละ 40

ด้านการศึกษาผู้ใหญ่หรือการศึกษานอกโรงเรียนของไทย มีผู้เข้าเรียนระดับประถมศึกษาร้อยละ 2.9 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 18 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 34.7

- ความเสมอภาคระหว่างเพศ ประเทศไทยไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศในการเข้าศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น แต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษา มีหญิงเข้าเรียนมากกว่าชายเล็กน้อย เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ

- การมีส่วนร่วมทางการศึกษา สถานการศึกษาเอกชนของไทยมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาน้อยมากทุกระดับการศึกษา ในระดับประถมศึกษามีสัดส่วนร้อยละ 16.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 9.3 ระดับมัธยมศึกษาร้อยละ 13.5 และระดับอุดมศึกษาร้อยละ 18.3 ในขณะที่หลายประเทศโรงเรียนเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้นเมื่อระดับการศึกษาสูงขึ้น เช่น สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี และญี่ปุ่น


อ้างอิง
สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา. (2552). สภาวการณ์การศึกษาไทยในเวทีโลก พ.ศ.2550. กรุงเทพฯ:
พริกหวานกราฟฟิค.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น